TKP HEADLINE

รู้หรือไม่ว่า การนำวิดีโอจาก YoueTube มาวางหรือเผยแพร่ใน Social media ของตนเองที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ผิดกฏหมาย

ปัจจุบันเราท่านจะมีการใช้งาน Social media ในหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram, Twitter, BLOG, หรือแม้กระทั่ง Website ส่วนตัว ขององค์กร หรือของหน่วยงาน พบว่ามีหลายคนที่นำวิดีโอจาก YouTube โดยเฉพาะ Music Video ของค่ายเพลงที่ตนเองชื่นชอบ มาเผยแพร่แชร์ต่อบน Social media ของตนในลักษณะใส่โค๊ดคำสั่ง Embed  แม้จะกระทำในวงจำกัด(หรือเปล่า) ในกลุ่มเพื่อนก็ตาม ซึ่งแต่เดิม(ก่อนเดือนสิงหาคม 2558) ถือว่ามีความผิด เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ และถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

แต่ปัจจุบันใดมีการตีความใหม่และได้มีการเผยแพร่โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา  ว่า การทำเช่นนั้น ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

ด้วยเหตุผลที่ว่า
1.การ embed เป็นเพียง code คำสั่งเช่นเดียวกับการ share link ที่ถือเป็นการอ้างอิงกลับไปยังคลิปวิดีโอของเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นทาง มิได้โยกย้ายตำแหน่ง แหล่งที่มา หรือการนำลงมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ

 
2.การที่ User หมายถึงผู้บริโภคจะทำการ embed ได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของคลิปวิดีโอบน YouTube ไม่ได้ยกเลิกคำสั่งการฝังได้ (ภาพการตั้งค่าจากด้านบน) เท่ากับเป็นการเผยแพร่ในลักษณะ Public ซึ่งถือได้ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์วิดีโอนั้นอนุญาตให้สาธารณชนทั่วไปเข้าถึงงานดังกล่าวได้ เพราะฉะนั้น การนำวิดีโอจาก YouTube มาเผยแพร่ไว้ที่ blog หรือ Social media ของเราในลักษณะของการฝังโค้ด (embed) จึงอาจไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับการแชร์ลิงค์ของคลิปวิดีโอ
      

รู้หรือไม่ว่า ระบบปฎิบัติการใดของ Smartphone ในปี 2016 ที่มีผู้ใช้มากที่สุด

เป็นที่ทราบกันว่าระบบปฎิบัติการของ Smartphone ในปัจจุบัน มีทั้ง Android, iOS และ Windows แต่ในความเป็นจริงรอบปี 2016 ที่ผ่านมา เป็นการชิงชัยของระบบปฎิบัติการ เพียง 2 เจ้า เท่านั้น นั่นคือ Android และ iOS แม้ว่า iOS จะเป็นระบบปฎิบัติการที่ใช้ใน iPhone แต่เพียงแบรนด์เดียว โดยมีสาวก Android ที่เป็นแบรนด์อื่นๆแทบทั้งสิ้น
ซึ่งปีที่ผ่านมา (2016) กระแสความนิยมของระบบปฏิบัติการใน Smartphone ของแต่ละประเทศ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2015 บ้าง

แต่ที่แน่ชัด Android คือผู้ครองตลาดจากสัดส่วนทั่วโลกประจำปี 2016


 อ้างอิงข้อมูลจาก : https://deviceatlas.com/

รู้หรือไม่ว่าอินเทอร์เน็ตที่ท่านเลือกใช้งานร่วมกับ package โทรศัพท์

เคยสงสัยไหมว่า เงื่อนไขของโปรอินเทอร์เน็ตของค่ายโทรศัพท์แต่ละค่ายไม่ว่าจะเป็น 3GB, 4GB, 5GB หรือ 10GB สามารถเล่นอะไร ได้เท่าใด



ด้านล่างเป็นตัวช่วยให้ท่านคำนวนได้ว่า โปรเน็ต หรือโปรเริมเน็ต ที่ท่านเลือก พอเพียงกับการใช้งานตาม life style ที่ท่านเป็นอยู่หรือไม่ การคำนวนเบื้อต้นนี้ จะช่วยวางแผนเลือกโปรที่เหมาะสมกับท่านได้ง่ายขึ้น


Brought to you byConfused.com



รู้หรือไม่ว่า ทางหลวง หมายถึงอะไร และในประเทศไทย มีทางหลวงกี่ประเภท

“ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟ และหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย”

ซึ่งตามพระราชบัญญัติทางหลวงได้ กำหนดประเภทของทางหลวงไว้ 5 ประเภท
(1) ทางหลวงพิเศษ
(2) ทางหลวงแผ่นดิน
(3) ทางหลวงชนบท
(4) ทางหลวงท้องถิ่น
(5) ทางหลวงสัมปทาน

(1) ทางหลวงพิเศษ
คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษโดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง


ปัจจุบัน (2560) มีทางหลวงพิเศษจำนวน 5 สาย คือ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 5
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกซึ่งปัจจุบันคือเส้นทางมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ – ชลบุรี

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคใต้

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9
ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หรือถนนกาญจนาภิเษก 

(2) ทางหลวงแผ่นดิน
คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่ที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยายบูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน ผู้รับผิดชอบและดูแลโครงการคือ กรมทางหลวง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม
โดยมีการแยกประเภทไว้ ดังนี้

ทางหลวงแผ่นดินหลัก มี 4 สาย คือ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน 
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท 
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม



ทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาค โดยจะเป็นทางที่แยกจากทางหลวงแผ่นดินหลัก สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 2 ตัวเลข อาทิ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24

ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลขตัวเดียว หรือสองตัว เข้าสู่สถานที่สำคัญของจังหวัด สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 3 ตัวเลข อาทิ 231, 217

ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัด กับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น ในลักษณะการกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะทางยาว สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 4 ตัวเลข อาทิ 2178

(3) ทางหลวงชนบท
คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท ซึ่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวงชนบท

(4) ทางหลวงท้องถิ่น
คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด

(5) ทางหลวงสัมปทาน
คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง

ในอดีตกรมทางหลวงเคยมีทางหลวงสัมปทาน 2 สาย ซึ่งหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ได้แก่
1. สายเนินหลังเต่า – บ้านทุ่งเหียง ระยะทาง 14.729 กิโลเมตร
(ปัจจุบันกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3246)
2. สายบูเก๊ะสามี – ดุซงยอ ระยะทาง 15 กิโลเมตร
(ปัจจุบันกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4055)

ปัจจุบัน 2560 กรมทางหลวงมีทางหลวงสัมปทาน 1 สาย คือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) บน
ถนนวิภาวดีรังสิต

นอกจากนี้ ทางหลวงเทศบาล และทางหลวงชนบทที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นทางหลวงท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕

ศึกษาเพิ่มเติม
http://www.drr.go.th/sites/default/files/knowledge/070709002.pdf
http://legal.drr.go.th/sites/legal.drr.go.th/files/2_0.pdf

รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินจากกรุงเทพฯอยู่ที่ไหน

รูัหรือไม่ว่า ถนนสายหลักหรือที่เรียกว่าทางหลวงแผ่นดิน ในประเทศไทย ประกอบด้วยถนนกี่สาย คำตอบคือ ๔ สาย เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ไปสู่ภาคต่างๆ โดยเริ่มที่ สายที่ ๑ พหลโยธิน (ไปภาคเหนือ) สายที่ ๒ สุขุมวิท (ไปภาคตะวันออก) สายที่ ๓ มิตรภาพ (ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และสายสุดท้ายสายที่ ๔ เพชรเกษม (ไปภาคใต้)
ย่อมถือได้ว่า จุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่ ๔ ต้องอยู่ที่กรุงเทพมหานคร



แล้วจุดเริ่มต้นดังกล่าวอยู่ที่ใด

“กิโลเมตรที่ ๐ ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน หมายเลข ๑ หมายเลข ๓ และหมายเลข ๔ เริ่มจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนต่างๆในกรุงเทพฯ จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน คือ ถนนพหลโยธิน จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถนนสุขุมวิท จากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ต่อมามีทางหลวงสายประธานหมายเลข ๒ คือถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับ กม.๐ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ-สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒”



นี่คือใจความที่ปรากฎในแผ่นป้ายคำอธิบายที่ทางกรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นคู่กับป้ายแผนที่ทางหลวงประเทศไทยที่แสดงถึงเส้นทางของถนนสายหลัก หรือที่เรียกว่าสายประธาน ๔ สาย รวมถึงแสดงถนนสายอื่นๆทั่วประเทศ ตั้งอยู่บริเวณขอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หัวมุมถนนดินสอ ฝั่งด้านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา

นอกจากนี้ถนนแต่ละสายทั้ง ๔ สายยังมีประวัติหรือจุดกำเนิดการสร้างที่เป็นเรื่องน่าศึกษา ซึ่งท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก
http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/2941/categoryId/87/--0-.aspx

อ้างอิง
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1292143939&grpid=01&catid=no
http://www.nationtv.tv/main/content/lifestyle/378461104/

รู้หรือไม่ว่า ที่เรียกว่า 3G หรือ 4G หมายความถึงอะไร


ในสังคมทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางโลกของการติดต่อสื่อสาร โลกของข้อมูล ชั่วเวลาเศษเสี้ยววินาที ใครเข้าถึงข้อมูล หรือเชื่อต่อสื่อสารได้ก่อน อาจหมายถึงการนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจ แม้ว่าการเชื่อมโยง การติดต่อสื่อสารในทุกวันนี้จะถือว่าค่อนข้างดี มีความรวดเร็ว อาจจะมีบ้างเรื่องความนิ่งของสัญญาณ ความเสถียรภาพของการเชื่อมโยง แต่ก็ถือว่าได้ก้าวข้ามจากยุค Analog ไปสู่ Digital สมบูรณ์แบบ


คราวนี้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า G ไม่ว่า จะเป็น 2G, 3G หรือ 4G คำว่า G ไม่ใช่คำว่า Generation แต่มาจากคำเต็มๆว่า Generation wireless หรือยุคของการสื่อสารไร้สาย (ไม่ว่าจะโดยใช้สัญญาณวิทยุหรือการเข้ารหัสอื่นๆ) โดยอนุมานว่าในแต่ละ Generation ของการสื่อสารไร้สายจะเป็นช่วงเวลาช่วงละ 10 ปี ซึ่งการก้าวข้ามในแต่ละยุคจะมีการพัฒนาย่อยๆ เพิ่มขีดความสามารถในแต่ละ generation ด้วย 



เราอาจจะไม่รู้ว่า 4G ได้ให้อะไรในภาพรวมบ้าง แต่ สิ่งที่แน่ก็คือ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ถูกลง ในทุกๆด้าน ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา การใช้ชีวิตในยุคข่าวสารข้อมูล ก้าวข้ามขีดจำกัดในการติดต่อสื่อสารทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาชีวิตในสังคมดิจิตอล และอีกไม่นาน เทคโนโลยี 5G ก็จะก้าวเข้ามา สิ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนในวันนี้ จะถูกแทนที่ด้วยปริมาณ ความเร็ว ความคงที่ รวมถึง Device ที่จะปฏิวัติโฉมใหม่ไร้กฏเกณฑ์ที่เคยใช้ในวันนี้ลง ซึ่งคงจะได้เห็นกันในปี 2563




ศึกษาเพิ่มเติม :
https://www.techopedia.com/definition/2920/forth-generation-wireless-4g
https://www.orange.com/en/news/2015/mars/5G-towards-the-mobile-Internet-of-the-future



รู้หรือไม่ว่า การเลือกสินค้าจากร้านประมูลออนไลน์ ได้หรือเสีย คุ้มหรือไม่คุ้ม

ปัจจุบันโลกของการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ง่าย เทคโนโลยีด้านเครือข่ายอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งผู้ใช้งานมือใหม่ ต้องระวังตัวมากยิ่งขึ้น ในโลกออนไลน์ มีทั้งเว็บขายของ ที่น่าเชื่อถือ อาทิ ลาซาด้า หรือ ตลาดดอทคอม หรือ ShopAt24.com หรือ ขายดี  หรือ CMART  เป็นต้น

LAZADA.com



 
 
ShopAt24.com เครือ CP
 
 
Kaidee.com



 
CMART เครือ BIG C

นอกจากจะมีร้านค้าออนไลน์ มากมาย ทั้งที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าเล็กๆ ที่สร้างร้านขายของ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเครื่องสำอางค์ กระเป๋าสตรี เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล้กทรอนิกส์ VCD/DVD สินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอื่นๆอีกมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ของวงการ e-commerce เมืองไทย แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ เกิดเว็บนำสินค้ามานำเสนอ ในวิธีการ ประมูล ส่วนใหญ่เริ่มราคาที่ 1 บาท โดยปัจจุบัน การประมูลสินค้าออนไลน์ที่กำลังนิยมและเป็นกระแส ทั้งแง่ลบ และแง่เกือบบวก โดยหลายๆคนที่เข้าไปประสบวิถีชีวิต เรื่องราว  อาจจะมีบ้างที่สมหวังเล็กๆ ปัญหาเรื่องของที่ประมูล ส่วนใหญ่สินค้า จะเป็นสินค้าเกรดต่ำจากประเทศจีน (ย้ำว่าเกรดต่ำ เพราะประเทศจีน เป็นประเทศที่มีโรงงานผลิตสินค้าได้หลากหลายเกรด สินค้าระดับพรีเมี่ยมในตลาดประเทศเราหรือหลายๆประเทศ แบรนด์ดังๆก็ทำในจีนมากต่อมาก ไม่เชื่อลองดูไม่ว่าจะเป็น Notebook, Smartphone นาฬิกา, โทรทัศน์, เครื่องเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆอีกมากมาย ) แม้ว่าเว็บประมูล จะลงภาพประกอบพร้อมคำสำคัญ คำอธิบาย แต่เชื่อเถอะว่า ไม่ละเอียดมากนัก


เรามาดูว่าในบ้านเรามีเว็บประมูลแบบไหนบ้าง

แบบแรก ประมูล สินค้า แข่งราคากัน 1 หรือ 2 หรือ 5 หรือ คิดเป็นเปอร์เซนต์ โดยมีช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ผู้เข้าประมูลต้องแสดงตนเป็นสมาชิก โดยการกรอกรายละเอียด หรือผ่านทาง facebook เว็บจำพวกนี้ส่วนใหญ่สินค้าจะมีคุณภาพต่ำ
แต่ถ้าเป็นเว็บสินค้าแบรนด์ สินค้านำเข้า อาทิ จากญี่ปุ่น ก็ จะมีเว็บ ที่จดทะเบียนขออนุญาตจากทางการไทย ใครสนใจก็ลองค้นหาดู

แบบที่สองจะคล้ายกับเว็บแรก แต่สินค้าจะมีทั้งสินค้าเลียนแบบและสินค้าจริงที่มีขายกันในท้องตลาด (ทั้งของจริง และของเสมือนจริง) การประมูลเป็นลักษณะเหมือนแบบแรก การเป็นสมาชิกก็จะเหมือนกัน แต่ภาพรวมของสินค้า ค่อนข้างจะดีกว่า


แบบที่สามเป็นเว็บประมูลแบบลงเครดิตหรือที่เรียกกันว่า บิด (BID) ผู้เข้าประมูลต้องเสียเงินซื้อบิด (ผ่านระบบธนาคาร เครดิตการ์ด,  Paysbuy, PayPal, เคานท์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven, เทสโก้ โลตัส และอีกหลายช่องทาง ที่เว็บนั้นๆออกแบบ) เพื่อนำบิดดังกล่างไปวางแข่งประมูล ในสินค้าแต่ละตัวแต่ละชิ้น จะมีผู้สมหวังเพียง หนึ่งคน (ย้ำอีกทีว่า เพียง 1 คน)  แต่ อีกหลายคนต้องโยนเงินของตนเข้าไปในกระดานเว็บ หายสาบสูญฟรีๆ จำนวนหลายสิบคน ต่อ หนึ่งรายการสินค้า (บางเว็บอาจจะมีเทคนิคจูงใจแปรเปลี่ยนบิดเป็นแต้มสะสม)  สินค้าโดนส่วนใหญ่ค่อนข้างดี

ผู้เขียนได้เข้าไปเฝ้าติดตาม รวมถึงทดสอบกระบวนการดังกล่าวมาหลายเว็บ รวมถึงติดตามสอบถามผู้ประมูล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบชะตากรรม พอสรุปได้ ดังนี้

1.ได้ของที่ไม่มีคุณภาพ ของชำรุด  เช่น
   ช้อนสะเตนเลส สุดแสนจะบาง ทั้งๆที่โฆษณาว่า ผลิตจากสแตนเลสเนื้อดี น้ำหนักเบา ด้ามจับถนัดมือ จริงเรื่องเดียวคือ น้ำหนักเบา มีสิทธิ บาดปากได้
   
   เมาส์ไร้สาย ที่คุณภาพต่ำ ความไว ความแม่นยำในการใช้งานต่ำ (สงสัยว่า คนในบริษัทเหล่านี้ใช้เมาส์ของบริษัทตัวเองไหมนะ)

   ที่สูบลมจักรยาน หน้าปัดชำรุด หลุดกระจาย

เป็นต้น

2.ได้ของไม่ตรงกับภาพ ของจริงกับรายละเอียดที่แสดงไว้แตกต่างกัน

3.ราคาที่ได้ อาจจะไม่ถูกจริง เพราะต้องแข่งกับคนของเว็บ กับ Bot  ที่เป็นระบบอัตโนมัติ

4.ประมูลไม่ได้ ต้องเสียเงินฟรี (ในรูปของ Bid) และต้องปล่อยให้สูญเงินไป โดยวิธีการนี้ ต้องมีเวลา มีจำนวนบิดในมือค่อนข้างมากในการตาม ต้องรู้จักเลือกสินค้า ซึ่งมีเว็บหลายแห่งที่ ไม่ค่อยเอาเปรียบลูกค้านัก เพราะเว็บแบบนี้ จะได้กำไรสูงอยู่แล้ว เพราะเมื่อมีผู้แข่งมากขึ้น ผู้ได้ จะได้เพียงรายเดียว แต่คนอื่นที่ร่วมวงแข่ง คือผู้เสียบิด

5.สินค้าชำรุดการเคลมสินค้ายาก การเคลมเพื่อเปลี่ยนใหม่มีขั้นตอนกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากหรือทำได้ยากและช้ากว่าตอนซื้อหลายเท่า

.............................................................................................................................................
ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปลองประมูลลองศึกษาจาก search Google  ดูนะครับ  หรือ จะหาอ่านประสบการณ์ของผู้ใช้งานเว็บประมูลสินค้า ก็ได้
 .............................................................................................................................................
 
 
 
 
 
สำนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  ได้ระบุแจกแจงแบ่งประเภท ธุรกิจ e-Commerce โดยแบ่งตามรูปแบบการค้าไว้ 5 ประเภทดังต่อไปนี้


        1) รูปแบบรายการสินค้าออนไลน์ (Online Catalogue)
     เป็นร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงรายการสินค้าอย่างเดียว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพพจน์บริษัทและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเบื้องต้นแก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ค้าส่ง การสั่งซื้อมักกระทำผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือโทรสาร เพราะร้านค้ามักไม่ระบุราคาในเว็บไซต์ แต่ต้องการเจรจาต่อรองกับลูกค้า เมื่อตกลงซื้อขายแล้วการชำระเงินมักอยู่ในรูปแบบการค้าดั้งเดิมคือ โอนเงินทางธนาคาร หรือเปิด L/C ตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้ได้แก่ www.toyota.co.th เป็นต้น



        2) ร้านค้าปลีก (e-Tailer)
     แบบจำลองธุรกิจประเภทนี้ มีลักษณะที่ร้านค้าบนอินเตอร์เน็ตเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยระบุราคาสินค้าและค่าขนส่งอย่างชัดเจน การรับคำสั่งซื้อกระทำโดยระบบอัตโนมัติผ่านเว็บไซต์ และนิยมรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ซื้อ ตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้ได้แก่ www.amazon.com เป็นต้น



        3) การประมูลสินค้า (Auction)
     ร้านค้าอาจไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ แต่อาศัยผู้ให้บริการเว็บไซต์ประมูลสินค้าที่มีอยู่แล้วเป็นสื่อในการค้า โดยยินดีเสียค่าบริการส่วนหนึ่งแก่ผู้ให้บริการเว็บไซต์ ลักษณะการประมูลเป็นได้ทั้ง 2 ทาง คือผู้ขายเสนอขายก่อนแล้วให้ผู้ซื้อแข่งกันเสนอราคาซื้อภายในเวลาที่กำหนด ผู้เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้า เช่นเดียวกับการประมูลปกติ ตัวอย่างเว็บไซต์ประมูลที่ให้บริการลักษณะนี้ได้แก่ www.ebay.com


และอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสนอซื้อก่อนแล้วให้ผู้ขายแข่งขันกันเสนอราคาขายภายในระยะเวลาที่ กำหนด ผู้เสนอราคาขายต่ำสุดจะได้รับสิทธิ์ขายสินค้านั้นกับผู้ซื้อ การประมูลประเภทหลังนี้จะถูกเรียกว่า Reverse Auction หรือ การประมูลแบบย้อนกลับ ตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้ได้แก่ https://reverseauctions.gsa.gov/reverseauctions/reverseauctions/นอกจากนี้ กลุ่มผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีปริมาณการสั่งซื้อมาก เช่นบริษัทเยเนอรัลมอเตอร์ หรือ อีจี อาจสร้างเว็บไซต์เพื่อทำการจัดซื้อ โดยให้ผู้ขายแข่งขันกันเสนอราคาขาย อาจเรียกรูปแบบนี้ว่า ระบบจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Procurement ก็ได้

        4) ประกาศซื้อขายสินค้า (Web Board/e-Classified)
     เป็นรูปแบบเว็บไซต์ ประเภทชุมชนเป็นที่นิยมใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น www.pantipmarket.com หรือ www.sanook.com เป็นต้น


จึงมักจัดให้มีกระดานข่าว (Webboard) เฉพาะ สำหรับการซื้อขายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คล้ายกับลักษณะการโฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ต้องการขายมักจะเป็นผู้ลงประกาศข้อความนั้น และให้เบอร์โทรศัพท์ หรือ e-mail เพื่อผู้ซื้อติดต่อ เนื่องจากการค้าส่วนใหญ่อยู่ภายในประเทศ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายจะนัดส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซืั้อ และพร้อมรับชำระเงินทันที

        5) ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace)
     การสร้างเว็บไซต์ ของบริษัทเองนั้นแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างไม่สูงมากนัก แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูงเพื่อดึงให้ลูกค้าที่สนใจเข้ามาที่เว็บไซต์ ในขณะที่เว็บไซต์ชุมชนที่ผู้ขายสามารถลงประกาศขายสินค้าได้แม้จะมีผู้เข้าชมมาก แต่ลักษณะของผู้เข้าชมมีความหลากหลายทำให้โอกาสที่จะพบผู้สนใจซื้อสินค้ามีต่ำ จึงเกิดการตั้งเว็บไซต์ ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้า เฉพาะเรื่อง กับตลาดกลางอิเลกทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าทั่วไป ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสินค้าเฉพาะเรื่อง จัดตั้งขึ้่นมาเพื่อซื้อขายสินค้าเฉพาะเรื่อง เช่น


 เว็บไซต์ www.one2car.com ก็เป็นตัวอย่างของตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายรถยนต์มือสอง ในประเทศไทย โดยผู้ขายต้องสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์นี้ก่อนใช้บริการหรือตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นสินค้าทั่วไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่
สำนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 ประเทศไทย
 โทร. 0-2547-5959-60 โทรสาร. 0-2547-5973 สายด่วน 1570

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.dbdmart.com/learning/default/lesson/id/15
 
Copyright © 2018 ฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ครูกัญ. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand